เทรนด์ธุรกิจคนขี้เกียจมาแรง ปี 2020
ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามามีอิทธิพลและอำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตของสังคมยุคใหม่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคกลายเป็นมนุษย์รักสบาย หรือ เรียกอีกนัยหนึ่งว่าเป็นมนุษย์“ขี้เกียจ” ทำให้เกิด “เศรษฐกิจคนขี้เกียจ” หรือ ภาษาอังกฤษเรียกเท่ๆ ว่า Lazy Economy รองรับกลุ่มผู้บริโภคสังคมปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจใหม่มาแรงในปี 2020 หรือ ปี 2563 เพราะสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภครักความสะดวกสบายโดยตรง ที่ผู้ประกอบการไทยใครเริ่มต้นก่อนย่อมได้เปรียบ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
เศรษฐกิจคนขี้เกียจเริ่มปรากฏภาพชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2561 หลังจากเว็บไซต์ “อาลีบาบา” ( Alibaba) ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ของประเทศจีน เปิดให้บริการมนุษย์ขี้เกียจสั่งซื้อสินค้า “ Lazy Products ” หรือ “ผลิตภัณฑ์ตอบสนองความขี้เกียจ”ปรากฎว่ามียอดขายปีแรกถล่มทลายคิดมูลค่าสูงถึง 16 พันล้านหยวน หรือราว 6.9 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว จากนั้นกระแสลุกลามไปทั่วโลก รวมทั้งอาเชียน และประเทศไทยด้วย
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจขี้เกียจที่ว่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากพฤติกรรมของมนุษย์อย่างเดียว แต่เกิดจากความขี้เกียจของสังคมยุคสมัยใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป ส่วนใหญ่ชื่นชอบรักความสะดวกสบายที่พร้อมทุ่มเงินซื้อสินค้า จ่ายค่าบริการ หรือสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด ทำให้ธุรกิจดังกล่าวตอบโจทย์ความต้องการให้กับมนุษย์ขี้เกียจในยุคดิจิทัลอย่างน่าทึ่ง
ปี 2563 ธุรกิจที่จะเกิดการแข่งขันรุนแรงที่สุด คือ ธุรกิจอาหารพร้อมส่ง หรือที่เรียกว่า ฟู้ด เดลิเวอรี่ ( Food Delivery) หลังจากยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(มหาชน) หรือ ซีพี ประกาศสงครามแย่งส่วนแบ่งตลาดฟู้ด เดลิเวอรี่ อย่างเต็มตัว หลังจากก่อนหน้านี้ปล่อยให้คู่แข่งยักษ์ใหญ่ค้าปลีกชิมลางเดินเครื่องครองส่วนแบ่งตลาด ทำให้ซีพีเสียโอกาสทางการตลาด
โดยปี 2562 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจคนขี้เกียจเติบโตพุ่งกระฉูดสวนกระแสเศรษฐกิจโดยรวม เพราะได้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง เพียงแค่ลูกค้ากดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน ที่สมัครเป็นสมาชิกใช้บริการกับผู้ให้บริการ ฟู้ด เดลิเวอรี่ ไม่ว่าร้านดังจะอยู่ตรงไหน ใกล้ หรือไกล ก็ไม่ต้องเสียเวลาเดินไปซื้อเองให้เมื่อย แค่นั่งรอ นอนรอ อยู่ที่บ้าน อาหารเมนูจานเด็ดที่สั่งไปผ่านแอปพลิเคชันก็จะมีคนขับรถจักรยานยนต์มาส่งถึงมือที่บ้าน โดยมูลค่ารวมของ”ฟู้ด เดลิเวอรี่” ปีที่แล้วพุ่งสูงถึง 3.3-3.5 หมื่นล้านบาททีเดียว และปี 2563 ธุรกิจ ฟู้ด เดลิเวอรี่ ยังคงมาแรง
ฟู้ด เดลิเวอรี่ ห่วงโซ่ตอบโจทย์คนขี้เกียจ
จากการทำวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล( CMMU ) ระบุว่า ฟู้ด เดลิเวอรี่ กลายเป็นห่วงโซ่ธุรกิจสนองเศรษฐกิจขี้เกียจ ที่กำลังเติบโตไม่หยุด นับตั้งแต่ปี 2561 ลากยาวปี 2563 กลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดเฟื่องฟูในประเทศไทยว่าได้ ทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเท่านั้นเข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจนี้ แต่ยังมีผู้เล่นอีก 2 ส่วน เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดก้อนโตและพลิกโอกาสทองจาก “ช่องว่าง” เล็กๆ กลายเป็นขุมทรัพย์มหึมา นั่นคือ ร้านอาหารและคนส่งอาหาร
โดยมีการคาดการณ์ว่า ร้านอาหารทั้งในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่จะมีเข้ามาส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท และคนส่งอาหารจะมีส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 3.9 พันล้านบาท ส่วนผู้ให้บริการแอปพลิเคชันที่เป็นผู้กุมห่วงโซ่ “ ฟู้ด เดลิเวอรี่” นั้นคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 3.4 พันล้านบาทเลยทีเดียว เมื่อมูลค่ามหาศาลขนาดนี้ แน่นอนว่า “การแข่งขันทางการตลาดย่อมดุเดือดเลือดพร่าน” หลายแบรนด์ต่างงัดกลยุทธ์โปรโมชันราคาออกมา เพื่อดึงดูดผู้บริโภคและเอาใจคนขี้เกียจ จากที่มีแค่แอปพลิเคชันเดียวอย่าง ‘แกร็บฟู้ด’ ปัจจุบันมีมากกว่า 10 แอปพลิเคชันเปิดศึกการแข่งขันทางการตลาด
ช้อปปิ้ง ออนไลน์ แห่ผุดแย่งส่วนแบ่งตลาด
ปัจจุบันประชาชนชาวไทยมีพฤติกรรมขี้เกียจทำอาหารมากขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับจากผลวิจัยเชิงลึกของ CMMU ยังพบว่าประชากรไทยสูงถึง 69% หรือประมาณ 45 ล้านคน ไม่เพียงแต่เป็นลูกค้า”ฟู้ด เดลิเวอรี่”แล้วธุรกิจ“ช็อปปิ้งออนไลน์ หรือเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซ ยังเป็นอีกหนึ่งห่วงโซ่ธุรกิจ ที่เริ่มเข้ามาตอบสนองความขี้เกียจของมนุษย์อย่างเป็นร่ำเป็นสัน ที่แห่เปิดให้บริการมากมาย ส่งผลทำให้มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซ มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง นั้บตั้งแต่ปี 2561 โดยมูลค่าสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท เช่นเดียวกับปี 2562 เติบโตสูงยิ่งขึ้นคิดมูลค่าอาจสูงถึง 3.8 ล้านล้านบาท และแนวโน้ยมไม่หยุดแค่นั้นในปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าพุ่งทะลุกว่า 5 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
“ยกตัวอย่างตลาดอี-คอมเมิร์ซที่จัดโปรโมชั่นในช่วงเทศกาล 9.9 , 11.11 หรือ 12.12 เมื่อปีที่ผ่านมา ปรากฎว่ามียอดสั่งซื้อของแต่ละเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมในไทยสูงขึ้นหลายเท่า โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่คนนิยมสั่งซื้อก็ยังหนีไม่พ้น สินค้าตอบสนองความขี้เกียจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน ตลอดทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นทั่วไปในครัวเรือน”
อีกหนึ่งพฤติกรรมตอบสนองความสังคมคนขี้เกียจ ที่กำลังกลายมาเป็นธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด นอกเหนือจากสั่งซื้ออาหารและการช้อปปิ้งออนไลน์แล้ว “ธุรกิจแม่บ้านทำความสะอาดและซ่อมบ้านเคลื่อนที่”มาแรงไม่แพ้กัน เนื่องจากสังคมยุคใหม่ไม่ค่อยมีเวลาดูแลทำความสะอาดบ้านเรือน หรือห้องพักตามคอนโดมิเนียมต่างๆ ที่ต้องตื่นแต่เช้าไปทำงานกลับมาถึงที่พักก็ตกค่ำ ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาทำความสะอาด หรือบ้านพังชำรุดไม่มีปัญญาซ่อมแซมเองได้ ก่อให้เกิดธุรกิจบริการดังกล่าวที่ผู้ประกอบการเปิดเว็บไซต์ “แม่บ้านออนไลน์” และ “ช่างซ่อมบ้านออนไลน์” บริการผ่านแอปพลิเคชันมากกว่า 5 แอปพลิเคชันจากเดิมมีแค่ 1 ราย และยังมีสตาร์ตอัพรายใหม่อีกหลายรายเปิดให้บริการแบบลักษณ์ดังกล่าว สร้างรายได้ให้แม่บ้านออนไลน์และช่างซ่อมบ้านเกือบเท่าตัว ซึ่งจากผลวิจัยของ CMMU พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมขี้เกียจทำงานบ้านและซ่อมบ้านเองมากถึง 77% หรือประมาณ 50 ล้านคน
กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจไม่น้อยเพราะเกิดจากความขี้เกียจนั่นเอง คือ “นักรับจ้างต่อคิว” ธุรกิจที่มีเวลาเป็นต้นทุน ถือเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เห็นได้จากงานเปิดตัวสินค้าแบรนด์ดังต่างๆ ที่มักจะมีคนแห่มาต่อแถวเพื่อซื้อสินค้าเป็นคนแรกๆ หรือที่เรียกว่า “ตั้งแคมป์” เพื่อต่อคิวซื้อสินค้า ซึ่งรายได้ของนักรับจ้างต่อคิวต่อครั้งอย่างต่ำก็คนละ 300 บาท หลายคนอาจมองว่าธุรกิจนี้ไม่แฟร์เท่าไร หรือเป็นธุรกิจที่ไม่น่าพิสมัย แต่ธุรกิจนักรับจ้างต่อคิว นับเป็นธุรกิจที่เกิดจากความพึงพอใจและการตกลงของ 2 ฝ่าย ระหว่างผู้จ้างและผู้ถูกจ้าง ที่ผู้จ้างยอมจ่ายเงินเพื่อเอาเวลาไปทำอย่างอื่น และผู้ถูกจ้างก็ยอมสละเวลาตัวเองเพื่อต่อคิวเพื่อแลกกับเงิน ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตาในอนาคตทีเดียว ซึ่งจากผลวิเคราะห์เชิงลึกของ CMMU พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมขี้เกียจรอคิวมากถึง 81% หรือประมาณ 53 ล้านคน
ธุรกิจและบริการเหล่านี้ในปี 2020 คาดว่าจะได้รับความนิยมและตอบสนองความต้องการตลาดกลุ่มคนขี้เกียจได้เป็นอย่างดี หากผู้ประกอบการ หรือกลุ่มสตาร์ทอัพที่กำลังมองหาแนวทางทำธุรกิจแนวใหม่ อาจจะหันมาศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมตลาดคนขี้เกียจและนำไปต่อยอดได้ในอนาคต
ตัดสั้นต่อไม่รอแล้วนะ 35 เทรนด์ผมสั้น 2020 ผมบ็อบ ผมสั้นประบ่า ตัดก่อนสวยก่อน
อัปเดต เทรนด์ผมสั้น 2020
ช่วงนี้เทรนด์ผมสั้นมาแรง! สาว ๆ ต่างพากันไปหั่นผมให้สบายหัว ผมสั้นเนี่ย นอกจากจะดูแลง่าย จัดทรงง่าย ใช้เวลาเซตน้อย ยังทำได้หลายลุคไม่แพ้ทรงผมยาวเลยล่ะ วันนี้เราเลยจะชวนทุกคนมาอัปเดต เทรนด์ผมสั้น 2020 จะผมบ็อบ ผมสั้นประบ่า ผมสั้นทำสี ไว้ผมหน้าม้า ชอบทรงไหนตัดทรงนั้นเลย ตัดสั้นต่อไม่รอแล้วนะ ตัดก่อนสวยก่อน 1 2 3 เริ่ม!
ใครรูปหน้ายาว หัวเหม่ง ชอบไว้หน้าม้า อยากได้ลุคเกาหลี ๆ ต้องทรงนี้เลย ตัดผมสั้นแล้วซอยหน้าม้าบาง ๆ ไว้หน้าม้าความยาวประมาณคิ้ว ซอยให้ไม่หนามาก หน้าม้าบาง ๆ แบบนี้ดูแลง่าย ตัดแล้วไม่ร้อน สิวไม่ค่อยขึ้น ปิดเหม่งพอกรุบกริบ สวยแบบหวานซ่อนเปรี้ยว ไม่ได้ดูหวานจ๋า ยังแอบมีความเซ็กซี่เล็ก ๆ
อีกทรงสำหรับสาวที่อยากไว้ผมหน้าม้า แต่อยากได้ลุคแบบติส ๆ นิดนึง ไม่ซ้ำแบบใคร ให้อารมณ์ศิลปิน ต้องตัดผมสั้น แล้วไว้หน้าม้าเต่อ หน้าม้าความยาวเหนือคิ้วขึ้นไป ตัดให้ปลายเสมอกัน ความหนาพอประมาณ ยิ่งเซตให้ยุ่ง ๆ หน่อยสไตล์แมซซี่แฮร์ บอกเลยว่าสวยมาก
ย้อนวันวานกันหน่อย กับทรงผมสั้นแบบบ็อบ สไตล์ทรงผมเด็กมัธยมต้น ผมบ็อบสั้นสีธรรมชาติ สีดำ หรือน้ำตาลเข้ม ไว้ความยาวประมาณติ่งหูหรือระต้นคอ อาจจะตัดหน้าม้าด้วยเพื่อเพิ่มความน่ารัก จะหน้าม้าหนา ๆ หรือซอยหน้าม้าบางก็ได้ ตัดตามสไตล์ของแต่ละคนได้เลย ทรงนี้ตัดแล้วหน้าเด็กมาก
ทรงยอดนิยมที่ฮิตกันข้ามปี คือทรงผมสั้นดัดลอน สำหรับสาวคนไหนที่อยากไว้ผมสั้นให้สบายหัว แต่ก็กลัวผมจะบานออก หรือกลัวผมดูไม่เป็นทรง เซตผมไม่ค่อยเป็น แนะนำให้ดัดลอนเลยค่ะ ผมสั้นดัดลอนจะค่อนข้างสวยในตัวเองอยู่แล้ว เซตง่าย ดูมีวอลลุ่มแบบไม่ต้องทำอะไรเยอะ ไม่บานออกเป็นเป็ดแบบที่สาว ๆ หลายคนกังวลแน่นอน แถมสาวคนไหนมีแก้ม หน้ากลม ทรงนี้ช่วยให้หน้าดูเล็กด้วย
สาวแซ่บมาทางนี้ ใครอยากได้ทรงผมสั้นที่ไม่ซ้ำใคร แต่ก็ไม่ได้อยากทำสีทั้งหัว มาทางนี้เลย Dip Dye Hair รอเราอยู่ ทรงผมสั้นเป็นอีกทรงที่ดิปปลายผมแล้วสวยมาก ใครกลัวผมเสีย ไม่กล้าทำสี ทรงนี้แหละเหมาะ เราทำสีแค่ช่วงปลายผมพอ ถ้าเบื่อ ไม่พอใจ ผมสุขภาพไม่ดีเหมือนเดิม ก็แค่ตัดปลายผมออก เท่านี้ก็ทำทรงใหม่ได้แล้ว ใครเบื่อง่าย ผมสั้นดิปปลายก็เหมาะนะ เพราะเปลี่ยนทรงได้บ่อย จะเปลี่ยนสีไปเรื่อย ๆ ก็ยังได้
แบ๊ว ๆ แบบสาวญี่ปุ่น ทรงผมสั้นปลายงุ้ม ทรงนี้แล้วแต่สภาพผมและความขยันของแต่ละคน บางคนก็ตัดดัดวอลลุ่มแบบงุ้มเข้า แต่บางคนแค่ใช้ไดร์หรือที่ม้วนผมม้วนจัดทรงเอาก็ได้ แต่ถ้าให้แนะนำ ถ้าหากใครขี้เกียจ ดัดทีเดียวจบ ๆ ไม่ต้องมาม้วนทุกเช้าค่ะ ทรงนี้ทำง่าย และเหมาะกับสาว ๆ หลายรูปหน้าเลย จะไว้หน้าม้าหรือไม่ไว้ก็ได้ ทำสวยทั้งผมสีเข้มและผมสีอ่อน
สาวเท่ทั้งหลายมารวมกันทางนี้ ทรงผม Pixie Cut แซ่บ ๆ เหมาะกับสาวเท่เป็นที่สุด ตัดสั้นแบบนี้ดูแลง่าย ไม่ต้องจัดทรงเยอะ แถมยังได้ลุคที่ดูทั้งเท่ ทั้งเซ็กซี่ ไม่ซ้ำแบบใคร เหมาะกับอากาศร้อน ๆ แบบบ้านเราด้วย ใครอยากแซ่บหน่อยก็ทำสีอ่อนไปเลย รับรองว่าเกิด!
ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และรูปภาพนำไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าวิธีใด ๆ ถ้าฝ่าฝืนทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- Total count of Like 0
- Total count of Comment 0
- LINE share button
- Facebook share button
- Twitter share button
ดูเพิ่มเติม
6 ทริค เลือกรองเท้าส้นสูงให้ดูขาเรียว ใส่ส้นสูงยังไงให้ไม่ดูตัน เท้าไม่อ้วน
NU FORMULA เปิดตัว Mintchyy บล็อกเกอร์ชื่อดัง เป็น Brand Ambassador คนไทยคนแรก
คิวต์สุด! 40 ไอเดีย แต่งตัวไป Disneyland ขอพื้นที่เล็ก ๆ ให้ยังเป็นเด็กอยู่ได้มั้ย
อัพเดตเทรนด์โลก! สรุปเรื่องที่ควรรู้จาก ‘เจาะเทรนด์โลก 2020’ โดย TCDC
สีอะไรจะมาในปีหน้า? ลูกค้ามีแนวโน้มว่าจะชอบอะไรแบบไหน? โลกทั้งใบกำลังชอบหรือไม่ชอบอะไร?
ทุกๆ ปี ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center : TCDC) จะทำการศึกษาแนวคิดและหลักการเหตุผลของเทรนด์ต่างๆ ทั่วโลก แล้วนำมาวิเคราะห์สรุปเพื่ออัพเดตให้คนไทยรู้ว่าโลกกำลังสนใจอะไรหรือมุ่งหน้าไปทางไหน และนี่คือสรุปเรื่องที่คุณควรรู้จากรายงาน ‘เจาะเทรนด์โลก 2020’ โดย TCDC
เทรนด์สีที่น่าจับตามองสำหรับปี ค.ศ. 2020
- สีน้ำเงิน (Surf the Web) ซึ่งเป็นตัวแทนของพื้นที่เปิด อิสรภาพ ความลุ่มลึก จินตนาการ และการแสดงออก มีความเสถียรของเม็ดสี บริษัทต่างๆ ให้ความสนใจในคุณสมบัติเรื่องพลังงาน เพราะสามารถสะท้อนคลื่นอัลตร้าไวโอเล็ตของดวงอาทิตย์ และช่วยให้อาคารเย็นสบายได้
- กลุ่มสีชมพูอมม่วง (Beetroot Purple) สะท้อนคุณค่าของความอุดมด้วยธรรมชาติ เกิดจากบริษัทในสหรัฐฯ ที่พัฒนาสี 4 สีที่ผลิตจาก Superfood ซึ่งบางส่วนได้ถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและลิปสติก
- สีน้ำตาลทอง (Golden Brown) เป็นสีที่สะท้อนความหมายการเชื่อมโยงกับอดีตและมรดกของพื้นที่ ได้รับความนิยมสำหรับงานแสดงศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่
- กลุ่มสีดินเผา (Terracotta) มักถูกใช้ในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน มีแนวโน้มจะเข้ามาแทนที่กลุ่มสีเทาซึ่งกำลังอิ่มตัวในตลาด โดยกลุ่มสีดินเผาที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้กับบ้าน จะกลายเป็นตัวเลือกใหม่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
- กลุ่มสีเขียว คืออีกกลุ่มสีที่เรียกได้ว่าทรงพลังในปี ค.ศ. 2020 เพราะสีที่เคยใช้อ้างอิงถึงธรรมชาติ กำลังเป็นตัวแทนใหม่ของความแตกต่างและผิดธรรมชาติ เหมือนกับในศิลปะยุคกลางที่มักใช้เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับยาพิษ อสูรกาย หรือปีศาจ
- สีเขียวพาสเทล (Neo Mint) จะยึดครองพื้นที่ในโลกแฟชั่นและการตกแต่งในปี ค.ศ. 2020 เป็นสีโทนสดชื่น เป็นกลางทางเพศ และให้ความรู้สึกลงตัวจากการผสมระหว่างเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และธรรมชาติไว้ด้วยกัน
เทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2020
- The Glocalist : สังคม การเมือง และเศรษฐกิจท้องถิ่น จะมีความสำคัญต่อผู้คนไม่น้อยกว่าเรื่องของทวีปหรือโลก เพราะผู้คนรู้สึกว่ารัฐชาติและรัฐบาลนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือหรือมีอำนาจที่เหมาะสมอีกต่อไป และพวกเขามีความสามารถที่จะยกระดับเรื่องของท้องถิ่นสู่ความเป็นสากลได้
- The Hybrid Humanist : ผู้เชี่ยวชาญหลายรายเชื่อว่าในปี ค.ศ. 2020 นั้นจะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Hybrid Intelligence หรือยุคของการผสมผสานระหว่าง Human Intelligence และ Artificial Intelligence เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนให้กับอุตสาหกรรม ผู้บริโภคก็จะยินดีเปิดใจรับนวัตกรรมใหม่นี้ (เช่น การเชื่อมสมองเข้ากับอินเทอร์เน็ตให้กลายเป็น IoT แบบเรียลไทม์) แต่ก็คาดหวังต่อบริษัทด้านเทคโนโลยีให้มีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อการดำเนินงานมากขึ้น
- The New Skecptical : ผู้บริโภคลดความวางใจและเชื่อใจจากโฆษณา โดยใส่ใจคำแนะนำของเพื่อน รีวิวออนไลน์ บล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์มากกว่า การเข้าถึงข้อมูลได้ครบถ้วนและทันทีที่เกิดความสงสัยจึงเป็นกุญแจสำคัญ รวมถึงการมีส่วนในการแสดงออกและแลกเปลี่ยนความเห็นด้วย
- The Boundaryless : ผู้บริโภคจะไม่ยึดติดกับกรอบความคิดหรือธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดิม ทั้งในแง่อายุ เพศ หรือเขตแดนทางภูมิศาสตร์ ดังนั้น คำหรือแนวคิดที่ใช้ในแคมเปญจึงต้องเปิดกว้างและครอบคลุมมากขึ้น
เทรนด์อื่นๆ ที่น่าสนใจของโลกในปี ค.ศ. 2020
- บ้านและคอมมูนิตี้เป็นสิ่งสำคัญ : การเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนต่างๆ ของโลก ทำให้คนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับบ้านและชีวิตรอบบ้าน ประกอบกับความสะดวกสบายจากโลกออนไลน์ ทำให้ไม่ค่อยเหลือเหตุผลให้ต้องออกจากบ้าน โมเดลการพักอาศัยรูปแบบใหม่อย่าง Co-operative Housing หรือ Shared-Living จึงเพิ่มขึ้น เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีส่วนร่วมในชุมชนและใช้ชีวิตอยู่ในโครงการได้อย่างมีความสุข
- โลกต้องการความเอื้ออารีต่อกัน : การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานในยุค GigEconomy เราจึงเห็นบล็อกและหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องการพัฒนาจิตใจจนชินตา พร้อมคำอธิบายว่า นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ ที่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดแห่งยุคสมัยได้
- ผู้บริโภคกำหนดทิศทางของแบรนด์ : โครงการ CSR ไม่สามารถซื้อใจผู้บริโภคได้อีกต่อไป คุณค่าของแบรนด์อยู่ที่ความเชื่อและประสบการณ์ที่ผู้บริโภคสั่งสมผ่านตัวพวกเขาเองมากกว่า และผู้บริโภคยุคใหม่ก็ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการท้าทายแบรนด์ เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจทางอารมณ์’ (Emotion Economy) คือผู้บริโภคกำหนดทิศทางของแบรนด์ ผ่านความต้องการหรือความคาดหวังของตนเอง แบรนด์ต่างๆ จึงจำเป็นต้องสร้างอารมณ์ร่วม เคารพ และแสดงจุดยืนฝั่งเดียวกับผู้บริโภคให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลาย
- DNA Economy : ข้อมูลและเทคโนโลยีด้านชีวภาพและพันธุศาสตร์ สามารถทำให้เราวินิจฉัยและแก้ปัญหาสุขภาพได้ตรงจุดมากขึ้น รวมถึงสามารถออกแบบการรักษาแบบเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) เรื่องของดีเอ็นเอจึงไม่ได้อยู่เพียงในห้องแล็บอีกต่อไป แต่ก้าวออกมาสู่ความสนใจของคนทั้งโลก การพิชิตความเจ็บป่วยด้วยดีเอ็นเอจึงเติบโตขึ้น พร้อมกันกับที่ประเทศต่างๆ ปฏิวัติระบบดูแลสุขภาพ เพื่อเป็นแนวทางการรักษาโรคที่สำคัญอย่างมากในอนาคต
- Local Activism : กลุ่มคนรุ่นใหม่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง เพราะประชาชนทั่วโลกต่างสูญเสียศรัทธาที่มีต่อรัฐบาลหรือองค์กรของประเทศตัวเอง กลุ่มคนเล็กๆ จึงเริ่มต้นแก้ปัญหารอบด้านที่เกิดขึ้นโดยไม่พึ่งพาศูนย์กลาง
- Crowd-based Capitalism : ที่ผ่านมา เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Eeconomy) เติบโตและเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ในปี ค.ศ. 2020 เราทุกคนจะเข้าสู่ระบบทุนนิยมจากมวลชน (Crowd-based Capitalism) ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ รัฐและองค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจรูปแบบการทำงานของคนที่เปลี่ยนไป และมองหาโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง
- HI-AI : ปี ค.ศ. 2020 คือจุดเริ่มต้นของการวางระบบปปฏิบัติการ AI ในธุรกิจดิจิทัลทุกประเภท แต่ความเคลือบแคลงใจปัญญาประดิษฐ์เป็นที่มาของการผสานความอัจฉริยะของมนุษย์ (Human Intelligence) กับความฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) รวมถึงการป้อน EQ ให้กับระบบปฏิบัติการ เพื่อทำให้เทคโนโลยีมีความเป็นมนุษย์มากที่สุด
- จริยธรรมเทคโนโลยี : การละเมิดสิทธิบนโลกดิจิทัลเกิดขึ้นตลอดเวลา และเริ่มทวีความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้คนต่างยินยอมแลกข้อมูลส่วนตัวเพื่อให้ได้มาซึ่งบริการและความสะดวกสบายในชีวิต การสร้างมาตรฐานใหม่ด้านจริยธรรมเทคโนโลยี (Tech Ethics) จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศกำหนดเป็นกฎหมายใช้แล้ว รวมถึงได้รับการบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยด้วย
- โภชนาการด้านดิจิทัล (Digital Nutrition) : ปี ค.ศ. 2020 นับเป็นปีที่เป็นที่สุดของสื่อโซเชียลมีเดียในหลายๆ ด้าน ขณะเดียวกัน อาการเสพติดโซเชียลมีเดียและสมาร์ตโฟนก็รุนแรงขึ้นในหลายๆ ประเทศ จนบริษัทด้านเทคโนโลยีหลายบริษัทต้องออกระบบหรือฟังก์ชั่นมาเพื่อแสดงความรับผิดชอบกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Do Not Disturb, Bed Time Mode, หรือแคมเปญ Digital Detox ของแบรนด์ต่างๆ ซึ่งในปีหน้าก็มีแนวโน้มว่าจะมีการ customized ขึ้นเรื่อยๆ
- ยุคหลังลัทธิบริโภคนิยม (Post-consumerism) : ในด้านของสิ่งแวดล้อม ปัญหาสภาพอากาศ ขยะพลาสติก หรือมลพิษด้านต่างๆ ยังคงอยู่ และความยั่งยืนยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนของทุกภาคอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตจะเกิดการพลิกผัน สินค้าขั้นสุดท้ายจะถูกนำมาเป็นต้นทุนในการผลิตสินค้าใหม่ ผู้บริโภคจะซื้อสินค้าน้อยลงและลงทุนมากขึ้นกับระบบใหม่ที่ช่วยยกระดับวงจรของผลิตภัณฑ์ แต่ละแบรนด์จึงพยายามมองหาวิธีการปรับปรุงกระบวนการออกแบบและผลิตสินค้า หลายๆ ประเทศก็มีการออกบนโยบายเพื่อขับเคลื่อนเมืองเชิงบวก (Positive City) ที่มุ่งเน้นการทำในสิ่งที่ดีขึ้นต่อโลก ไปพร้อมกันกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ถูกนำมาใช้มากขึ้น แม้จะถูกท้าทายจากระบบทุนนิยม
อ่าน ‘เจาะเทรนด์โลก 2020 โดย TCDC’ ฉบับเต็มได้ที่นี่